วันพระต้องละนิวรณ์ แล้วนิวรณ์นั้นคืออะไร?
แม้วันพระจะไม่ได้มีหนเดียว แต่เมื่อวันพระเวียนมาถึง โอกาสที่จะสั่งสมบุญอย่างเต็มที่ก็มาเยือนด้วยเช่นกัน พุทธศาสนิกชนจึงไม่ให้ควรปล่อยให้นิวรณ์นั้นมา กีดกั้นขวางการสร้างบุญกุศลทุกอย่าง ทั้งทาน ศีล ภาวนา จึงขอเชิญทุกท่านมาศึกษาว่า นิวรณ์นั้นคืออะไร เพื่อทบทวนและจะได้รู้เท่าทันอุปสรรคในการทำความดีของเรา
ภาพจากเพจการบ้าน |
นิวรณ์ ๕ คือ
เครื่องกีดกั้นการทำงานของจิต สิ่งที่ขัดขวางความดีงามของจิตมี ๕
อย่างคือ
๑)
กามฉันทะ ความพอใจในกาม คือ
ความอยากได้ในกามคุณทั้ง ๕ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
เป็นกิเลสพวกโลภะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบกามฉันทะเหมือน “หนี้” ผู้ที่เป็นหนี้เขา แม้จะถูกเจ้าหนี้ทวงถามด้วยคำหยาบ
ก็ไม่อาจโต้ตอบอะไรได้
ต้องสู้ทนนิ่งเฉย
เพราะลูกหนี้เขา
แต่ถ้าเมื่อใดชำระหนี้หมดสิ้นแล้ว
มีทรัพย์เหลือเป็นกำไร
ย่อมมีความรู้สึกเป็นอิสระและสบายใจ
อุปมาข้อนี้ฉันใด
ผู้ที่สามารถละกามฉันทะในจิตใจได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมมีความปราโมทย์ยินดีอย่างยิ่งฉันนั้น
ภาพจาก pixabay.com |
๒)
พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่
ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง
ความผูกใจเจ็บ
การมองในแง่ร้าย การคิดร้าย มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบพยาบาทเหมือน “โรค” ผู้ที่เป็นโรคต่างๆ ย่อมมีความทุกข์ มีความเจ็บป่วย ไม่สบายทั้งกายและใจ
เมื่อจะทำการสิ่งใดก็ต้องฝืนทำด้วยความทรมาน ยากที่จะพบความสุขความสำเร็จได้ฉันใด ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจ พยาบาท
ใจย่อมเป็นทุกข์ กระสับกระส่าย แม้จะพยายามปฏิบัติธรรม ก็ยากที่จะซาบซึ้ง ในรสแห่งธรรม
ไม่อาจพบความสุขอันเกิดจากฌานได้ฉันนั้น
ภาพจาก pixabay.com |
๓)
ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม แยกเป็นถีนะ
ความหดหู่ ห่อเหี่ยว ถดถอย
ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย
ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจกับมิทธะ ความเซื่องซึม
เฉื่อยเฉา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง
อืดอาด ตื้อตัน อาการซึม ๆ เฉา ๆ ที่เป็นไปทางกาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเปรียบถีนมิทธะเหมือน
“การถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ” คนที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ นั้น
ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความบันเทิงจากการเที่ยวดูหรือชมมหรสพต่าง ๆ ในงานนักขัตฤกษ์ฉันใด ผู้ที่ตกอยู่ ในอำนาจถีนมิทธะ ย่อมหมดโอกาสที่จะรับรู้รสแห่งธรรมบันเทิง คือ
ความสงบสุขอันเกิดจากฌานฉันนั้น
ภาพจาก pixabay.com |
๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ
ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ
แยกเป็นอุทธัจจะ
ความที่จิตฟุ้งซ่าน
ไม่สงบซัดส่าย กับกุกกุจจะ ความวุ่นวายใจ
รำคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบอุทธัจจกุกกุจจะเหมือน “ ความเป็นทาส “ ผู้ที่เป็นทาสเขา จะไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ ต้องคอยพะวงถึงนาย เกรงจะถูกลงโทษ ไม่มีอิสระในตัว
ภาพจาก pixabay.com |
๕)
วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ได้แก่
ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจ
สงสัย เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม
พระสงฆ์ เกี่ยวกับสิกขา เป็นต้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบวิจิกิจฉาเหมือน “ บุรุษผู้มั่งคั่งเดินทางไกลและกันดาร
พบอุปสรรคมากมาย “ บุรุษที่เดินทางไกล
หากเกิดการสะดุ้งกลัวต่อพวกโจรร้าย
ย่อมเกิดความลังเลใจว่า
ควรจะไปต่อหรือจะกลับดี
ความสะดุ้งกลัวพวกโจรผู้ร้าย
เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไกลของบุรุษฉันใด
ความลังเลสงสัยในคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุอริยภูมิของพระภิกษุฉันนั้น
ภาพจาก pixabay.com |