วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563

4 วิธีดูคนดีเบื้องต้น

ใคร ๆ ก็อยากคบคนดี อยากมีเพื่อนดี ที่จะเป็นคนช่วยคิด ช่วยแนะนำ เป็นที่ปรึกษา รับฟัง ร่วมทาง หาทางพาชีวิตของเรานั้นก้าวไปในทางที่ดี ดังนั้น คนที่เราคบจึงสำคัญมาก เรามีวิธีดูคนมาฝากค่ะ


4 วิธีดูคนดีเบื้องต้น
1. มีความกตัญญู ต่อทุกคนที่เคยทำคุณแก่ตน เบื้องต้นคือ พ่อ แม่ เขาจะดูแล เลี้ยงดู และช่วยเหลือท่านเป็นอย่างดีเลยนะ

"ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี"

ภาพน้องอาร์ท ลูกกตัญญู ดูแล คุณพ่อผู้พิการ : เพจอุตรดิตถ์24ชั่วโมง

2. ทำตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ อยู่ตลอดเวลา เช่น ตั้งใจ ให้ทาน สวดมนต์ รักษาศีล นั่งสมาธิ และช่วยเหลือ ผู้อื่นอยู่เสมอโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 

ถ้าคนไหนตั้งใจทำดี พัฒนาตนเองให้ดี และ มีน้ำใจช่วยเหลือเผื่อแผ่ รีบพาตัวไปใกล้เลย

เพื่อนที่ดี ช่วยสอน แนะนำ แบ่งปันความรู้ให้เพื่อน

3. ชักชวนผู้อื่น ให้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และทำความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่เนืองนิตย์
 
คนดีก็ไม่อยากโดดเดี่ยวหรือดีคนเดียว แต่อยากสร้างสังคมรอบข้างให้ดีด้วย ถ้าคบคนแบบนี้ เราก็จะมีสังคมดีไปด้วย

ครูและนักเรียน ร่วมกัน ทอดผ้าป่าสามัคคี
ตัวอย่าง ของ การชักชวนกันทำดี

4. ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะตนนั้นตั้งมั่นในความดี ในศีลธรรม เป็นต้น 

คนดีนั้นจะมีความเห็นอกเห็นใจ อยากช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่า และไม่กลั่นแกล้งให้ใครต้องเดือดร้อน คนที่อยู่ใกล้จึงมีแต่ความสบายใจ

เพื่อน ดูแลกัน ยามบาดเจ็บ

ขอให้คบคนดี มีศีลธรรม กันนะ 

ชีวิตจะได้พบแต่ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป

เสฏฺฐมุปคมญฺจ อุเทติ ขิปฺปํ

เมื่อคบคนที่ดีกว่า ตัวเองก็ดีขึ้นมาฉับพลัน


ขอขอบคุณ 

ธรรมดี ๆ จาก พระอาจารย์ เพจพระมหาสมคิด ชยาภิรโต

ภาพจาก Pixabay, เพจ อุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง และ เพจภาพดีๆ072


วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

6 เทคนิค เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ใจวัยรุ่น

ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน จากการเลี้ยงดูวัยเด็กไปสู่การเลี้ยงดูวัยรุ่น 

แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะกำหนดไว้ว่า วัยรุ่น คือ เด็กที่มีอายุในช่วงระหว่าง 10 -19 ปี 

แต่ปัจจุบันลูกอายุ 8 – 9 ปีก็เริ่มโต (กว่าวัย) จนดูเหมือนจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว เพราะทุกวันนี้การเลียนแบบดารา นักร้อง เข้าถึงได้ง่ายแทบทุกบ้าน อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงไปทุกที่ แต่การแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดี / ไม่ดี  ถูกต้อง/ไม่ถูกต้อง จะยังไม่มีเท่าผู้ใหญ่ จึงต้องให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย 

เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านพร้อม ๆ กัน อยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ ต้องการค้นหาตนเอง เริ่มมีกลุ่มเพื่อนที่รักและชอบ  สนใจในสิ่งที่เหมือน ๆ กับตน  ทำให้ลูกเริ่มออกห่างพ่อแม่  แต่หากพ่อแม่เลี้ยงดูแบบผลักไสลูกให้ออกห่าง  แบบนี้ยิ่งก่อให้เกิดปัญหา  การเลี้ยงลูกให้ได้ใจลูกวัยรุ่นจึงต้องมีเทคนิค ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับคุณพ่อคุณแม่ 


ก่อนอื่น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เมื่อลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น อายุประมาณ 10 ปีขึ้นไปนั้น  ลูกไม่ใช่เด็กน้อยที่เราจะต้องดูแลแบบประคบประหงมใกล้ชิดแบบลูกยังเป็นเด็กเล็กอีกแล้ว  จากลูกที่เคยเป็นเด็กน่ารักช่างเอาอกเอาใจ  กอดหอมเล่นกันกับพ่อแม่ได้ทุกเช้าเย็น  อาจจะเริ่มมีพฤติกรรมดื้อรั้น  เอาแต่ใจตัวเอง  แต่ไม่ใช่ลูกเป็นเด็กไม่ดีนะคะ นี้เป็นพัฒนาการของช่วงวัย  ที่วัยรุ่นเริ่มอยากเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จนทำให้พ่อแม่อดห่วงไม่ได้ ด้วยความรักและความหวังดีที่มีต่อลูกนั้น ยิ่งทำให้พ่อแม่พยายามเข้าไปสอดส่องลูก และพยายามออกกฎเกณฑ์บังคับลูกที่กำลังเป็นวัยรุ่น จนอาจมีปัญหา  เกิดเป็นช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูกได้ 




6 เทคนิคเลี้ยงลูกให้ได้ใจลูกวัยรุ่น ที่นำมาฝากจึงมีดังนี้

1. อย่าแทรกแซงชีวิตลูกมากเกินไป

คุณพ่อคุณแม่ลองเช็คตนเองดูว่า เรากำลังเลี้ยงลูกแบบเราเป็นพ่อแม่ หรือเลี้ยงแบบเราต้อง QC ดูแลตรวจเช็คลูกไปทุกเรื่อง  

หากเรากำลังพยายามควบคุม (หรือ “สั่ง”) ลูกวัยรุ่นมากเกินไป  พยายามเข้าไปรับรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูกมากเกินไป  เราพยายามมีบทบาทในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของลูกวัยรุ่นมากเกินไป นี่อาจเป็นการแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว

หากเราสามารถยอมรับ และยอมให้มีความเห็นหรือการตัดสินใจที่แตกต่างไปจากมุมมองของพ่อแม่ได้ ถือเป็นการฝึกลูกวัยรุ่นให้เรียนรู้ ที่จะเป็นตัวของตัวเองและเริ่ม “เป็นผู้ใหญ่”




2. เวลาคุณภาพ

คำว่า  เวลาคุณภาพ  (Quality time) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวจริง ๆ นะคะ เพราะเวลาคุณภาพแม้ช่วงเวลาน้อยนิด แต่สามารถสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับลูกได้ เพราะช่วยเสริมสร้างความความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อ แม่ และลูก เวลาคุณภาพไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีกี่ชั่วโมง หรือกี่วัน แต่ยิ่งมีมากเท่าไหร่ โอกาสที่ครอบครัวจะได้แบ่งปันสิ่งดี ๆ ร่วมกันก็มีมากขึ้นเท่านั้น

เวลาคุณภาพเราสร้างได้อย่างไร

1. ง่ายที่สุด คือ รับประทานอาหารร่วมกัน  ช่วยกันจัดเตรียมอาหาร พูดคุย หยอกล้อ แบ่งปันสิ่งดี ๆ เป็นช่วงเวลาสั้นๆที่มีค่าทั้งสุขใจ สุขกายและอิ่มท้อง

2. โทรหากันเพื่อแสดงความห่วงใย  แต่ไม่ใช่การโทรเช็ค และอย่าโทรบ่อยจนทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด  น้ำเสียงแสดงความห่วงใย  ถามไถ่  ใช้คำพูดที่ฟังแล้วสบายใจทั้งสองฝ่าย   ดูแลตัวเองดี ๆ นะลูก  พ่อแม่รักลูกนะ   เดี๋ยวเจอกันนะลูก

3. วางแผนทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกัน ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น  ให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในตัดสินใจและลงมือทำด้วยกัน เช่น ลูก ๆ เป็นคนเลือกสถานที่ ๆ จะไป คุณพ่อคุณแม่ช่วยคิดหาที่พัก   คุณแม่เลือกร้านอาหาร คุณพ่อเป็นคนจองตั๋วสำหรับเดินทาง  เพียงแค่คิดก็สนุกแล้วค่ะ

4. หางานอดิเรกทำร่วมกัน  เช่น  ช่วยกันปลูกต้นไม้  ตัดแต่งกิ่งไม้ในสวน  ช่วยกันทำอาหาร ทำขนม เริ่มตั้งแต่การไปเลือกซื้อวัตถุดิบที่ตลาดหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อมาทำอาหาร ทำขนมอร่อย ๆ รับประทานกัน


3. เอาใจ “ลูก” มาใส่ใจ “เรา”

บางครั้งวัยรุ่น ก็ทำท่าฮึดฮัดไม่ยอมฟังพ่อแม่  ขอให้ใช้ความใจเย็น และดูจังหวะ ที่จะพูดเรื่องเหล่านี้กับเขา ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่หนักแน่นพอและไม่ได้ไปชวนทะเลาะด้วย  ก็จะทำให้ลูกได้ เรียนรู้พฤติกรรมใจเย็น  รู้จักข่มใจจากคณพ่อคุณแม่ไปในตัว   ไม่ปะทะกันด้วยอารมณ์  เรียกว่าสอนลูกด้วยการกระทำของพ่อแม่เอง   ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรรับฟังมุมมอง และแง่คิดของเขาดูบ้าง  พยายามเปิดใจให้กว้าง  จะทำให้ได้รู้จักลูกของตนเองได้ดีขึ้น

4. ทำความรู้จักเพื่อน ๆ ของลูก 

การรู้จักเพื่อน ๆ จะทำให้มองเห็นถึงอีกหนึ่งที่มาของวิธีคิดและการแสดงออกของลูก ถ้าเป็นไปได้ ควรรู้จักกับคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนลูกด้วย จะช่วยให้คุณแลกเปลี่ยนความเห็น และช่วยเหลือกันได้




5. ให้ความเคารพ

ความหมายในที่นี้  คือ  ให้ความเป็นส่วนตัว และสิทธิของลูกวัยรุ่น เช่น ไม่ควรจะไปค้นห้องนอนหรือโต๊ะส่วนตัวของลูก   หรือแอบอ่านบันทึก อ่านไลน์ของลูก   เพราะถ้าลูกรู้จะทำให้ลูกโกรธและรู้สึกไม่ไว้ใจพ่อแม่ จนอาจจะไม่ยอมรับฟังอะไรจากเราอีก   ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่จะคอยสอดส่องลูกก็ทำได้ แต่ควรให้ความเคารพในความเป็นส่วนตัวของเขาด้วย  ควรบอกลูกเพื่อขออนุญาต  แม้ว่าเราจะเป็นพ่อแม่ แต่การกระทำเช่นนี้เท่ากับการปลูกฝังให้ลูกรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่นต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อลูกในอนาคต



6. กฎเกณฑ์  ที่ไม่ดูเหมือน กฎหมาย

บางครั้งหากมีกฎเกณฑ์มากเกินไป ก็จะทำให้อึดอัดใจ สิ่งสำคัญในการตั้งกฎเกณฑ์ คือ ควรเห็นพร้อมกันทั้งพ่อแม่และลูก ไม่ใช่เกิดจากเฉพาะพ่อแม่ แต่ลูกไม่ได้ยอมรับหรือเห็นด้วย หากเป็นเช่นนี้ก็เกิดการต่อต้านแน่นอน  

กฎเกณฑ์ต้องยืดหยุ่นปรับให้เหมาะสมกับลูกและสามารถปฏิบัติได้ไม่เข้มงวดจนเกินไป   เช่น จะให้ลูกวัยรุ่นเข้านอนแต่หัวค่ำ หรือ จะห้ามไม่ให้ดูทีวีเลย หรือ ห้ามใช้โทรศัพท์คุยกับเพื่อนนั้น แน่นอนว่า ลูกจะไม่รับฟังหรือไม่ยอมปฏิบัติตาม แบบนี้ต้องผ่อนปรนบ้าง


ข้อคิดสะกิดใจ

เด็กในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังฝึกคิดและมองปัญหาต่างๆ อย่างซับซ้อนขึ้น  เริ่มใช้เหตุผลในการวิเคราะห์เรื่องต่างๆด้วยตัวของเขาเอง จึงอาจทำให้ดูเหมือนเขา  “ไม่ฟังคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป”  

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกยังรับฟังคุณพ่อคุณแม่อยู่ เพียงแต่ต้องการได้มีโอกาสแสดงความคิดและความเห็นของเขาให้พ่อแม่อย่างเราได้ทราบบ้าง

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีที่จะพูดคุยกับลูกวัยรุ่นอย่างสร้างสรรค์ด้วย การใช้วิธี “สั่งให้ทำ”อย่างเดียวคงไม่ได้  ในบางครั้ง ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญมากนักและคุณพอยอมรับได้ เช่น  การทำผม การแต่งตัว ซึ่งบางครั้งจะดูเป็นวัยรุ่นมากไป  ถ้ามองผ่านไปได้ ก็ควรจะปล่อยไปบ้าง 

สิ่งสำคัญ  คุณพ่อคุณแม่ควรจะพิจารณาเลือกเรื่องที่สำคัญที่ควรพูดก่อนมาพูดคุยกับลูก  อย่าพยายามพูดบ่นไปทุกเรื่อง จะทำให้เขาไม่ยอมรับฟังพ่อแม่อย่างเรา





หากลองศึกษาตำราการเลี้ยงลูกที่เก่าแก่แต่ไม่ล้าสมัย เราพบว่ามีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือ 2600 ปี ที่ผ่านมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเรื่อง ทิศ 6 ทรงระบุหน้าที่ของพ่อแม่ไว้ ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญในการเลี้ยงดูลูกในทุกยุคทุกสมัย โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ

บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้

           1) ห้ามปรามจากความชั่ว

           2) ให้ตั้งอยู่ในความดี

           3) ให้ศึกษาศิลปวิทยา

           4) หาคู่ครองที่สมควรให้

           5) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจเทคนิควิธีการเลี้ยงลูกวัยรุ่นแล้ว ก็สามารถนำธรรมข้อนี้ไปใช้เพื่อสร้างให้ลูก เป็นคนมีคุณภาพทั้งในด้านจริยธรรม การศึกษา เศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้อีกด้วย

พ่อแม่ สอนลูก ให้ศึกษาธรรม ตั้งแต่เด็กได้


ท้ายที่สุดนี้ อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเลี้ยงคู่หรือเลี้ยงเดี่ยวก็ตาม ขอให้พยายามเข้าใจลูกวัยรุ่นให้มาก ให้เวลากับเขาเท่าที่เราทำได้ เพื่อให้ลูกสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุข แม้อาจจะเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก แต่ก็คุ้มค่า เมื่อดอกผลที่ได้มานั้น คือความชื่นใจของพ่อแม่นั่นเอง  ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ


ขอบคุณบทความ จาก คุณมิ่งขวัญ เหล่าบุศณ์อนันต์

การเลี้ยงดูอย่างไรให้ได้ใจลูกวัยรุ่น :https://th.theasianparent.com/

ขอบคุณภาพ จาก
- เพจภาพดีๆ072 : https://photoofdays.blogspot.com/2020/09/26-01.html

- Pixabay : https://pixabay.com/th/photos/