วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

พระสงฆ์สาวกที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกมีอยู่จริงหรือ?



รูปเหมือนทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย


เมื่อความตายมาเยือน หัวใจหยุดเต้น ลมหายใจหมดสิ้น สังขารสูญสลาย ร่างกายมอดไหม้ ธาตุ 4 กลับคืนสู่เถ้าธุลี ศรัทธาคือสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในดวงวิญญาณ

ศรัทธาที่เหลืออยู่นั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องนำทางไปสู่สุคติภพ หากสิ้นศรัทธาเมื่อใด ใจก็ไร้แสงสว่าง ดวงวิญญาณก็ไร้แสงนำทาง ความมืดย่อมนำทางดวงวิญญาณไปสู่ทุคติภพ

สมัยพุทธกาล ในช่วงเวลาที่มีผู้ละสังขารนั้น มักมีผู้มาสอบถามพระพุทธองค์ว่า ดวงวิญญาณของผู้ตายไปอยู่ภพภูมิใด

พระพุทธองค์ก็มักตรัสตอบว่า ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา คือเครื่องนำทางไปสู่ความสำเร็จสมปรารถนา

เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ เขาพากเพียรในธรรม 5 ประการนี้ เพื่อความปรารถนาในฐานะใด เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมสมปรารถนาในฐานะนั้น

ธรรมทั้ง 5 ข้อนี้ แท้จริงหมายเอาศรัทธาเป็นหัวหน้า หากปราศจากศรัทธาแล้ว ก็จะไม่รู้เหตุผลว่าต้องปฏิบัติอีก 4 ข้อที่เหลือไปทำไม

เพราะเมื่อไม่มีศรัทธา ทำไมต้องรักษาศีล (ศีล) ทำไมต้องฟังธรรม (สุตะ) ทำไมต้องทำทาน (จาคะ) ทำไมต้องทำภาวนา (ปัญญา)

ศรัทธาจึงเป็นหัวหน้าที่คอยอธิบายเหตุผลให้เกิดปัญญาว่า

1. เพราะชีวิตเราอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม เราทำกรรมอย่างไร กรรมที่ทำนั้นแหละกำหนดชีวิตเรา

2. เพราะชีวิตเราตายแล้วไม่สูญ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามแรงกรรมดีกรรมชั่วที่ตัวเราก่อไว้ทั้งสิ้น ทำดีก็เป็นสุข ทำชั่วก็เป็นทุกข์

3. การเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีลักษณะหมุนซ้ำเป็นวงจรอยู่ในภพ 3 ซึ่งเป็นคุกขนาดใหญ่ที่ขังสรรพสัตว์ไว้ ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนี้

4. การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีทางเดียวคือต้องแหกคุกที่เรียกว่า ภพ 3 ออกไป ถ้าไม่แหกคุกออกไปก็ต้องติดคุกอยู่ในภพ 3 นี้ ไปตลอดกาล

5. บุคคลที่แหกคุกภพ 3 ออกไปได้สำเร็จนั้นมีอยู่จริง บุคคลนั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านไม่ได้แหกคุกหนีออกไปคนเดียวเพียงลำพัง แต่ยังสอนให้ผู้อื่นแหกคุกตามออกไปกับท่านด้วย

6. เมื่อแหกคุกภพ 3 ออกไปแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไปอยู่ไหน พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ท่านไปอยู่รวมกันใน "นิพพาน" เป็นแดนสถานอันบริสุทธิ์ที่เต็มไปด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานไปก่อนหน้าแล้ว (ปหาราทสูตร)

7. พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานกว่าสองพันห้าร้อยปี เรามาเกิดยุคนี้จะตามไปศึกษาวิธีแหกคุกจากภพ 3 กับท่านได้อย่างไร
พระพุทธองค์ทรงเคยสั่งไว้ว่า เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว "ธรรมวินัย" นั่นแหละคือศาสดาแทนเรา พุทธสาวกองค์ใดตั้งใจปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พระสงฆ์สาวกรูปนั้นคือตัวแทนเรา

8. ดูอย่างไรว่าพระสงฆ์สาวกองค์ใดที่ปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
พระพุทธองค์ทรงเคยตอบไว้ว่า ในวันที่เราตรัสรู้นั้น เราอาศัย 2 สิ่ง คือความเพียรอันแรงกล้าและการยอมสละชีวิตเพื่อให้ได้ตรัสรู้ธรรม หากแม้ตรัสรู้ธรรมไม่ได้ ตถาคตยอมตายอยู่ที่โคนศรีมหาโพธิ์ ไม่ขอลุกขึ้นจากโพธิบัลลังก์

จากคำตอบนี้ก็แปลว่า พระสงฆ์สาวกองค์ใดมีความเพียรอันแรงกล้า แม้ต้องตายก็ยอมสละชีวิต เพื่อแลกกับการบรรลุธรรม ท่านนั้นแหละคือผู้มีธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนเรา ไปเรียนธรรมะกับท่านนั่นแหละ จะได้มีความพากเพียรเหมือนกับท่าน

9. พระสงฆ์สาวกที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกมีอยู่จริงหรือ
เมื่อตอนที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน ทรงเคยชี้ให้พระอานนท์ดูว่า เหล่าภิกษุผู้เดินตามหลังพระสารีบุตรล้วนเป็นผู้มีปัญญามาก เหล่าภิกษุที่เดินตามหลังพระโมคคัลลานะล้วนมีฤทธิ์มาก เหล่าภิกษุผู้เดินตามหลังพระอนุรุทธะล้วนมีตาทิพย์ระลึกชาติได้มาก ซึ่งก็หมายความว่าการเลือกพระสงฆ์สาวกรูปใดเป็นอาจารย์ ลูกศิษย์ก็จะมีความสามารถเหมือนรูปนั้น

ต่อมาเมื่อพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ และพระอานนท์มาเข้าเฝ้าพร้อมกัน พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอรู้หรือไม่ ป่างามเพราะอะไร
พระอรหันต์แต่ละองค์ ท่านก็ตอบว่างามไปตามความถนัดในอภิญญาฤทธิ์ของท่าน เมื่อทุกรูปตอบจบแล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสสรุปว่า ป่างามด้วยภิกษุผู้มีความเพียร

ซึ่งคำตอบนี้ก็สอดคล้องกับความเพียรที่พระองค์ทรงยกย่องในวันตรัสรู้ นั่นคือความเพียรชนิดที่ยอมสละชีวิตเพื่อการบรรลุธรรม

ในยุคของเรานี้ แม้อยู่หลังพุทธกาลมาสองพันห้าร้อยปี แต่ละท้องที่ก็มีพระสงฆ์สาวกที่ทำความเพียรขั้นอุกฤษฏ์ประจำท้องถิ่นนั้นๆ เช่นกัน ศรัทธาองค์ไหนก็ปฏิบัติตามองค์นั้น

10. พระสงฆ์สาวกที่ปฏิบัติธรรมแบบอุทิศชีวิตนั้นส่วนมากอยู่ในป่า ถ้าจะศึกษากับองค์ที่อยู่กลางเมืองมีหรือไม่

คำตอบคือ มี ในยุคของเรานี้ เมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ลูกศิษย์ลูกหาในปัจจุบันเรียกท่านว่า "หลวงปู่วัดปากน้ำ" แม้ว่าตอนนี้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านมีกระจายอยู่ทั่วโลก

11. หลวงปู่วัดปากน้ำท่านมรณภาพไปแล้ว จะไปศึกษาธรรมวินัยกับท่านได้อย่างไร

เริ่มจากง่ายๆ ใกล้ตัวคือ ไปศึกษาชีวประวัติของท่าน จากเส้นทางเดินธุดงค์เมื่อสมัยท่านมีชีวิต เริ่มจากสถานที่ตั้งจิตอธิษฐาน วัดที่ท่านออกบวช วัดที่ท่านปักหลักทำภาวนาแบบยอมตายถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา วัดที่ท่านเผยแผ่ธรรมะไปทั่วโลก

การศึกษามาตามลำดับขั้นตอนนี้ คือการใช้เหตุผลพินิจพิจารณา เมื่อเข้าใจเหตุผลแล้วก็เกิดศรัทธาที่จะศึกษาธรรมวินัยจากคำสอนของท่านในฐานะที่ท่านเป็นพระสงฆ์สาวกผู้เป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายที่สุดในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น หากปราศจากการศึกษาประวัติของบุคคลแล้วนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเกิดศรัทธา เดินตามรอยธรรมยาตราของท่านไป
แต่เพราะได้ศึกษาประวัติอย่างดีแล้ว จึงเกิดศรัทธาอันแรงกล้า ที่จะเดินธรรมยาตราตามรอยเท้าของท่านไป

เราเกิดมาไม่ทันยุคพระพุทธองค์ก็ต้องอาศัยการศึกษาปฏิปทาของหลวงปู่วัดปากน้ำเป็นเข็มทิศนำทาง ท่านฝึกฝนตัวเองตามรอยพระบรมศาสดาอย่างไร เราก็ฝึกฝนไปตามคำสอนของท่านอย่างนั้น
ความตายจะมาถึงตัวเราเมื่อไรไม่มีใครรู้ รู้เพียงว่าทุกคนต้องแน่ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆ เราควรตายอย่างผู้มีศรัทธา อย่าตายอย่างผู้สิ้นศรัทธา และศรัทธาที่ควรมีก่อนตายนั้นคือศรัทธาในพระรัตนตรัย เพราะดวงวิญญาณของผู้มีศรัทธาย่อมมีแสงสว่างนำทางไปสู่สุคติภูมิ

ศรัทธาในพระรัตนตรัย คือเครื่องนำไปสู่การรักษาศีล การฟังธรรม การให้ทาน การเจริญภาวนา ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์อันสูงสุดในชีวิต ที่เราต้องรักษาไว้ให้ดีทั้งตอนเป็นและตอนตาย ต้องรักษาไว้ตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

-----------------
21 ม.ค. 2563
22.42 น.

Cr. Ptreetep Chinungkuro
ขอบพระคุณแหล่งที่มา https://www.facebook.com/tchinungkuro
ขอบคุณภาพจากเพจภาพดีๆ072

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

ข้อคิดที่น่าศึกษา เหตุใดจึงทรงเลือกแคว้นมัลละ เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ 


กุสินารา ราชธานีแห่งแคว้นมัลละในครั้งพุทธกาล


คือเมืองที่พระบรมศาสดาเลือกใช้เป็นสถานที่เสด็จมาดับขันธปรินิพพาน


เหตุผลที่ทรงเลือกเมืองนี้ ก็เพราะแคว้นมัลละยุคนั้น อ่อนแอที่สุดในชมพูทวีป


เมื่อพระองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว เวลาแคว้นอื่นมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ แคว้นมัลละย่อมยินดีแบ่งให้โดยง่าย เพราะไม่มีกองกำลังที่มีแสนยานุภาพยิ่งใหญ่พอจะครอบครองไว้เพียงผู้เดียว


แต่หากพระองค์ทรงเลือกเสด็จไปปรินิพพานที่แคว้นใหญ่อย่างเช่น มคธ โกศล วังสะ อวังตี ซึ่งเป็นสี่แคว้นมหาอำนาจของยุคนั้น การปรินิพพานของพระองค์อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดสงคราม 16 แคว้น แย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาได้


ขึ้นชื่อว่าสงครามย่อมไร้ความปรานี ไม่ว่าคนชรา เด็ก และสตรีย่อมถูกเข่นฆ่าไม่เว้น


การเลือกปรินิพพานในแคว้นที่อ่อนแอที่สุด จึงเป็นการตัดไฟสงครามแต่ต้นลม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน


อีกทั้งการรบกันเองของลูกศิษย์เพื่อแย่งอัฐิของอาจารย์นั้น ย่อมเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมคำสอนของพระองค์ พระพุทธศาสนาย่อมพลอยอายุสั้นไปด้วย


เราจะเห็นได้ว่าขึ้นชื่อว่า "พระบรมครู" ของชาวพุทธนั้น  ทรงกระทำการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ แม้แต่การปรินิพพานก็ไม่ทิ้งปัญหาสงครามโลกไว้ข้างหลัง


อันที่จริง แคว้นมัลละในยุคนั้น มีคนเก่งชนิดสะเทือนแผ่นดินอยู่หลายคน  แต่ละคนมีความรู้ความสามารถเกินพอจะทำให้แคว้นมัลละกลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตได้


ท่านแรกคือ พระทัพพมัลลบุตร ผู้เป็นเลิศด้านจัดเตรียมภัตตาหารและเสนาสนะไว้ต้อนรับพระสงฆ์


ท่านที่สองคือ พันธุละ มหาเสนาบดีแห่งแคว้นโกศล ผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์และราชอาณาจักรให้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล


ลำพังท่านแรกซึ่งเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ด้วยบุญของท่านเพียงรูปเดียว ก็เกินพอจะทำให้แคว้นมัลละคืนสู่ความยิ่งใหญ่ มีเศรษฐกิจกับจิตใจเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกันได้


ส่วนท่านที่สองนั้น ลำพังชื่อเสียงและผลงานที่ไปปรากฏอยู่ในแคว้นโกศล ก็เกินพอที่จะทำให้แคว้นเล็กๆ อย่างแคว้นมัลละกลายเป็นแคว้นมหาอำนาจได้ไม่ยาก


แต่เพราะสภาพบ้านเมืองในแคว้นมัลละนั้น มีข้อเสียบางอย่างที่ทำให้เกิดการขัดแข้งขัดขากันเอง จนคนเก่งอยู่ได้ยาก หรืออยู่ไม่ได้ หรืออยู่ได้ก็ต้องตกตายกันไปข้างหนึ่ง


ข้อเสียนั้นก็คือ

  • หมู่ญาติแตกความสามัคคี แก่งแย่งชิงดี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จ้องจับผิดคิดร้ายต่อกัน
  • ชอบใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย อวดร่ำอวดรวยว่าใครมีมากกว่ากัน
  • ชอบยกตนข่มท่าน กดผู้อื่นให้ต่ำลง
  • ชอบสุมหัวนินทา ริษยาใส่ร้าย ไม่อยากเห็นใครดีกว่าพวกตน
  • ชอบรวมหัวกลั่นแกล้งคนที่เก่งกว่าจนอยู่ไม่ได้


เมื่อสภาพบ้านเมืองเป็นแบบนี้ คนดีอยู่ยาก คนเก่งอยู่ไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้แคว้นมัลละกลายเป็นแคว้นที่อ่อนแอที่สุด


แต่กระนั้นพระพุทธองค์ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จไปดับขันธปรินนิพพานและประทานปัจฉิมโอวาทที่แคว้นนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะได้เป็นการทำบุญครั้งสุดท้ายกับพระพุทธองค์


  • ถือโอกาสเติมบุญให้ชาวเมือง
  • ถือโอกาสเติมบุญให้แคว้นมัลละ



ด้วยบุญใหญ่ครั้งสุดท้ายนี้ แคว้นมัลละจะได้รอดพ้นจากการถูกบดขยี้จากแคว้นอื่นๆ แม้ว่าสภาพบ้านเมืองจะตกอยู่ในสภาพอ่อนแอไร้คนเก่งบริหารบ้านเมืองก็ตาม


นี่คือพระบรมครูของชาวพุทธเรา แม้แต่การเลือกสถานที่ปรินิพานก็ยังใช้เติมบุญให้ชาวโลกได้


 อีกทั้งยังวางยุทธศาสตร์ป้องกันสงคราม 16 แคว้นชิงพระบรมสารีริกธาตุได้เด็ดขาดตั้งแต่ยังไม่ดับขันธปรินิพพานอีกด้วย


เราชาวพุทธควรภูมิใจที่มีพระสัมมาสัมพุทธเป็นพระบรมครูผู้ชี้ทางอันประเสริฐให้ชีวิตของเรา


--------------------


16 ม.ค. 2563


23.21 น.


ขอบคุณบทความจาก Ptreetep Chinungkuro

https://www.facebook.com/100000564350128/posts/3128248347203946?d=n&sfns=mo


Cr photo : https://youtu.be/mmAzhtgtGNQ