วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563

ป้องกันตนเองจากโรคโควิด19 ด้วยนิสัยรักษาสุขภาพ ตอนที่ 3 นิสัยการขับถ่ายอุจจาระ


สิ่งที่บ่งบอกถึงสุขภาพของเรานั้น หนีไม่พ้นของเสียที่เราได้ขับออกมา ซึ่งต่อเนื่องจาก ตอนที่ 2 นิสัยการขับถ่ายปัสสาวะ ก็คือเรื่องราวของ นิสัยการขับถ่ายอุจจาระ อย่างเป็นเวลาและสม่ำเสมอนั่นเอง อุจจาระอาจจะดูเหมือนสิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ เป็นของไม่น่าพิสมัยแต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้ว มันคือ ตัวชี้วัดชั้นดี ที่วงการแพทย์นั้นจะใช้ตรวจสอบในเรื่องของสุขภาพ และเราซึ่งเป็นเจ้าของร่างกายนี้ หากมีความสังเกต ก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้ด้วยเช่นกัน สำหรับการป้องกันเชื้อโรคอย่างโควิด19นั้น เราต้องอาศัยการสังเกตตัวเราด้วยเช่นกัน และการขับถ่ายอุจจาระก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องภูมิคุ้มกันร่างกายโดยตรงเลยทีเดียว

นิสัยการขับถ่ายอุจจาระ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การอั้นของเสียไว้ในร่างกาย ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากเราทราบถึงผลเสียแล้ว การสร้างนิสัยที่ดีย่อมจะทำได้ไม่ยาก

ผลเสียของการอั้นอุจจาระ

ลักษณะเฉพาะของอุจจาระที่สำคัญมี 2 อย่าง คือ 

1. มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว มันไม่ได้แข็งโป๊ก เหมือนอย่างลูกกระสุนยิงนก แล้วมันก็ไม่ใช่เหลวเละจนปั้นก้อนไม่ติด ลักษณะของอุจจาระที่ปกติคือ กึ่งแข็งกึ่งเหลว 

2. มีกลิ่นเหม็น แต่ไม่มีกลิ่นเน่า กลิ่นเหม็นกับกลิ่นเน่ามันต่างกัน กลิ่นเหม็นเป็นธรรมดาของอุจจาระ เหม็นเพราะมีแก๊สเจือปน เช่น แก๊สบิวเทน และ แก๊สมีเทน แต่ว่ากลิ่นเน่าอีกอย่างหนึ่ง ขอให้สังเกตกลิ่นอุจจาระในกระโถน ขณะที่อุจจาระลงไปใหม่ๆ ในกระโถนนั่นแค่กลิ่นเหม็นแต่ถ้าทิ้งไว้ในกระโถน สักสองวัน นั่นกลิ่นอุจจาระเน่า





  • ของเสียเข้าเส้นเลือด


เมื่อมีอาการปวดอุจจาระ แล้วเราอั้นเอาไว้นาน ๆ น้ำที่ปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งทำให้อุจจาระมีสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว จะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในเส้นเลือด เช่นเดียวกับการอั้นปัสสาวะ ของเสียที่จะต้องขับทิ้ง ถูกดูดซึมกลับเข้าไปในเส้นเลือด ผลที่ตามมาเป็นลูกโซ่ก็คือ โลหิตเสีย เลือดน้อย ตับร้อน ไตร้อน โรคภูมิแพ้ กลิ่นตัวแรง เป็นต้น


  • ท้องผูกสลับท้องเสีย


การอั้นอุจจาระเอาไว้นาน ๆ น้ำจากอุจจาระจะถูกดูดซึมกลับ เข้าไปในเส้นเลือด อุจจาระจึงแข็ง ถ่ายออกยาก ดีไม่ดีต้องแคะออก เพราะว่ามันค้างอยู่นาน อุจจาระที่แข็งมาก เมื่อพยายามถ่ายออกมา ก็จะไปครูดกับผิวของทวารหนัก นี่คือ ที่มาของโรคริดสีดวงทวารหนัก

อุจจาระแข็งที่ถูกอั้นเอาไว้หลายวัน จะถูกแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้เข้าไปกิน แล้วก็ขับสารพิษ (Toxic) ออกมา ทำให้อุจจาระเน่า และเกิดอาการท้องเสีย ขับถ่ายพรวดพราดออกมา กลิ่นเหม็นเน่ามาก เพราะฉะนั้นใครที่มีอาการ เดี๋ยวก็ท้องผูก เดี๋ยวก็ท้องเสียสลับกัน พึงรู้เถิดว่าสาเหตุหนึ่งคือ การอั้นอุจจาระนาน ส่วนโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความประมาทของผู้นั้น


  • ท้องผูก-ริดสีดวงทวารหนัก โรคท้องผูก


สาเหตุทั่วไปของการเกิดโรคท้องผูก ได้แก่
1. ร่างกายขาดน้ำ ดื่มน้ำน้อย หรือบางทีแม้ดื่มน้ำมาก แต่ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ก็ทำให้ขาดน้ำ สาเหตุที่เก็บน้ำไม่ได้ ก็เพราะเราไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจึงไม่ฟู ทำให้เก็บน้ำไว้ไม่ได้ หรือมิฉะนั้นการดื่มน้ำเย็นจัด เช่นน้ำใส่น้ำแข็งก็ ทำให้ร่างกายไม่เก็บน้ำ หรือการอยู่หน้าเตาไฟ หน้าตู้อบนาน ๆ ความร้อน จากเตาไฟ จากตู้อบดึงน้ำในตัวออกไป แต่เจ้าตัวยังดื่มน้ำในปริมาณ เท่าเดิม ผลที่ตามมาก็คือ มีอาการท้องผูก
2. ไม่ชอบรับประทานพืชผักผลไม้ ชอบกินแต่อาหารประเภทเนื้อ หรือพวกอาหารที่มีกากน้อย แต่ไม่กินผักผลไม้ที่มีกากมาก ใครที่เคยล้างท่อหรือล้างขวด จะเข้าใจได้ดีว่า ถ้าจะให้ท่อหรือขวดเกลี้ยง เขาต้องใช้แปรงขัดด้ามยาว ๆ ล้วงเข้าไปขัดในท่อหรือในขวด แต่ลำไส้ของเรายาวกว่าขวด แล้วจะใช้แปรงอะไรสอดเข้าไปล้างลำไส้ ก็ใช้เส้นใยจากพืชผักผลไม้ที่กินเข้าไป เพื่อไปทำหน้าที่ครูดเอาของเสีย ออกจากผนังลำไส้ พืชผักผลไม้จึงเป็นเสมือนแปรงล้างลำไส้ของคนเรานั่นเอง
3. อั้นอุจจาระนาน ๆ การอั้นอุจจาระไว้นาน ๆ เป็นผลให้น้ำที่มีอยู่ในอุจจาระ ถูกลำไส้ใหญ่ดูดซึมกลับเข้าไปในเส้นเลือด หลังจากน้ำถูกดูดซึมออกจากอุจจาระ อุจจาระก็จะแข็ง ท้องจึงผูก เพราะฉะนั้นอย่าถ่ายอุจจาระผิดเวลาโดยใช่เหตุ ถึงเวลาเมื่อไร ไม่ว่าจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ช่าง ขอเวลาไปถ่ายก่อนเรื่องอื่นเดี๋ยวค่อยว่ากัน
4. ไม่ชอบออกกำลังกาย ยิ่งถ้านอนเฉย ๆ หรือนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานาน ๆ จะเป็นเหตุให้ลำไส้ไม่ค่อยบีบตัว อุจจาระก็ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ติดต่อกันหลายวัน จึงเกิดอาการท้องผูกขึ้น หากทิ้งไว้นาน ๆ ท้องจะเสียตามมา เพราะอุจจาระที่ตกค้างเน่า




คนท้องผูกอย่างหนักจะแก้ไขได้อย่างไร

วิธีแก้ไขอาการท้องผูกอย่างหนักอาจทำได้ 3 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 เป็นวิธีง่ายๆ ตามแบบโบราณ กล่าวคือ เมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้าแล้ว ก็ชงน้ำชาใส่ใบชาลงไปนิดหน่อยเพียงแค่มีกลิ่น นั่งดื่มน้ำชาอ่อน ๆ อุ่น ๆ ถึงแม้จะดื่มน้ำชาหมดไปกาสองกา ถ้ายังไม่ปวดอุจจาระก็ไม่เลิกดื่ม ดื่มน้ำชาไปก็ออกกายบริหารเบา ๆ ไป ไม่เร่งไม่ร้อน เดี๋ยวก็ปวดอุจจาระจนได้ เมื่อปวดแล้วก็ให้รีบไปขับถ่ายเสีย ถ้าหากวันแรกยังไม่ถ่ายก็อย่าเพิ่งท้อ ทำติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน ก็ถ่ายจนได้และกลายเป็นนิสัยถ่ายแต่เช้าโดยอัตโนมัติ

วิธีที่ 2 การใช้ยาระบาย ยาระบายควรอยู่ในรูปอาหาร เช่น มะขามเปียก (มะขามเปรี้ยวดีกว่ามะขามหวาน) ยอดชุมเห็ดเทศ เป็นต้น ยาระบายที่อยู่ในรูปอาหารจะมีคุณค่ามากกว่า ยาถ่ายจากร้านขายยา เพราะการใช้ยาถ่ายจากร้านขายยา นาน ๆ ไปจะทำให้ติดยาถ่าย ถ้าไม่กินยาก็ไม่ถ่าย

วิธีที่ 3 สร้างกล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนัก วิธีนี้ทำได้โดยการ ออกกำลังที่ปากทวารหนัก กล่าวคือ ถ้ามีอาการท้องผูก เมื่อถึงคราวปวดอุจจาระ แต่อุจจาระแข็งมากจนเบ่งถ่ายไม่ออก ก็ให้เบ่งไม่แรงนักแล้วก็ขมิบ เบ่งนิดเดียวแล้วก็ขมิบ (ไม่ใช่ เบ่งหน้าเขียวหน้าเหลือง) ถ้ายังไม่ออกก็ใช้หัวฉีดน้ำล้างก้น ฉีดน้ำไปที่ปากทวารหนัก เพื่อให้น้ำเข้าไป ช่วยหล่อลื่น ทำสลับกับการเบ่งแล้วขมิบ จนกว่าจะถ่ายออก การเบ่งพรวดเดียวไม่ได้ช่วยให้ลำไส้ ได้มีโอกาสออกกำลัง แต่การเบ่งแล้วขมิบ เป็นการใช้กำลังที่ทวารหนักมาช่วยลำไส้ และในที่สุดกล้ามเนื้อหูรูดที่ปากทวารหนักก็จะมีกำลัง ตามมาด้วย ถ้าทำอย่างนี้ไม่นาน อาการท้องผูกจะคลายลง เพราะทั้งลำไส้ใหญ่และกล้ามเนื้อโดยรอบทวารหนัก มีกำลังพอที่จะขับอุจจาระด้วยตนเองได้


  • ริดสีดวงทวารหนัก


ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง จะเป็นเหตุให้โรคริดสีดวงทวารหนัก เกิดตามมาได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ที่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี จะไม่ยอมให้ท้องผูกเป็นอันขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดริดสีดวงทวารหนักได้ แต่ทว่าเมื่อมีอาการริดสีดวงทวารหนักเกิดขึ้น มีวิธีดูแลรักษาด้วยตนเอง ดังนี้

1. ถ้าใครมีอาการอักเสบที่บริเวณทวารหนัก เช่น ปากทวารหนักบวมเป่ง บ่อย ๆ ทั้งปวดและเจ็บจนแทบก้าวขาไม่ออก วิธีแก้ไขขั้นต้นอย่างง่าย ๆ ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาลงได้ ภายในไม่กี่นาที คือ เอามะกรูดแก่ ๆ ผลหนึ่งมาอังไฟ อาจจะใช้โคมไฟดูหนังสือก็ได้ โคมไฟที่มีความร้อนขนาด 80 วัตต์กำลังดี (ถ้าไม่มี 80 วัตต์ จะใช้ 100 วัตต์ก็ได้ หรืออย่างน้อยต้อง 60 วัตต์) อังพออุ่น ๆ แล้วลองใช้หลังมือแตะดู เมื่อรู้สึกว่าอุ่นพอทนได้ ก็ใช้มะกรูดอุ่น ๆ นั้น นาบที่บริเวณทวารหนัก พอลูกมะกรูดเย็นลง ก็เอามาอังไฟใหม่ แล้วก็ไปนาบอีก ทำสลับกัน ไปเช่นนี้ประมาณ 10 นาที เราก็จะรู้สึกด้วยตัวเองเลยว่า ส่วนที่บวมอักเสบจะยุบ อย่างน้อย 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และอาจมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์
บริเวณผิวที่นาบด้วยลูกมะกรูดนั้นถ้าปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนอาจจะรู้สึกแสบ ต้องใช้ครีมทาช่วยลดการระคายเคือง อาจจะเป็นครีมทาหน้า หรือครีมทาตัวก็ได้ แล้วก็นอนหลับสักตื่น ตื่นขึ้นมาจะพบว่าอาการบวมยุบหายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่เพิ่งเป็นครั้งแรกๆ อาการบวมอักเสบอาจจะเหี่ยวหายไปเลย แต่สำหรับผู้ที่เป็นมาเรื้อรัง จะไม่หายขาด เพียงแค่ทุเลาเท่านั้น แต่ในกรณีที่ยังมีเลือดไหลไม่หยุด ก็ต้องไปหาหมอที่มีความเชี่ยวชาญโรคนี้โดยตรง

2. ต้องหัดบริหารทวารหนักให้เป็น วิธีทำง่าย ๆ และได้ผลชะงัดคือ แต่ละครั้งที่เข้าห้องน้ำ ไม่ว่าถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ถ่ายเสร็จแล้วอย่าเพิ่งรีบออก จากห้องนํ้า ให้นั่งลงที่โถส้วมแล้วขมิบทวารหนัก คราวละ 300 - 400 ครั้ง เสร็จแล้วจึงค่อยไปทำธุระอย่างอื่น ปฏิบัติต่อเนื่องกันไปอย่างนี้ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ อาการท้องผูกและริดสีดวงทวารหนัก จะหายไปพร้อม ๆ กัน อย่างน่าอัศจรรย์




การดูแลตัวเองเมื่อท้องเสีย

ท้องเสีย หมายถึงภาวะที่มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลว ๆ มากกว่า 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด อาจมีอาการปวดท้อง และอาเจียนร่วมด้วย

อาการท้องเสียเฉียบพลัน 

ส่วนมากมีสาเหตุมาจากอาหารเป็นพิษ คือ อาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรค หรือสารเคมี เช่น สารกันบูด ยาฆ่าแมลง เป็นต้น โดยทั่วไป ซึ่งมักจะพบว่ามีประวัติกินอาหารร่วมกัน และมีอาการพร้อมกันหลายคน อาการจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า จะรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณที่กิน ชนิดของเชื้อโรคและสารเคมีนั้น ๆ รวมทั้งความต้านทานของแต่ละคนด้วย

ตามปกติแล้วร่างกายของคนเรา จะมีการปรับสภาพช่วยเหลือตัวเองแบบ อัตโนมัติ คือถ้ากินสิ่งที่เป็นพิษเข้าไป ร่างกายก็จะพยายามขับพิษออกทันที โดยลำไส้จะพยายามบีบตัว เพื่อขับพิษออกมา ขณะลำไส้กำลังบีบตัวเอง เพื่อขับสารพิษออกนั้น อาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้อง ขับถ่ายหลาย ๆ หน เพื่อขับของเสียออกให้หมด เพราะฉะนั้น เมื่อท้องเสีย หากไม่มีคลื่นไส้อาเจียน หรือมีคลื่นไส้อาเจียนแต่ไม่มาก ยังสามารถกินอะไรได้บ้าง เราจะต้องดื่มน้ำเข้าไปให้มาก ๆ ถ้าให้ดี ควรเป็นน้ำผสมเกลือแร่ (ที่เขาทำเป็นซอง ๆ มีขายตามร้านขายยาทั่วไป) เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป เพราะเมื่อร่างกายขาดน้ำ ก็จะทำให้อ่อนเพลีย บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นช็อกหมดสติเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การดื่มน้ำเข้าไปได้มากเท่าไร จะช่วยทำให้สารพิษต่าง ๆ ในลำไส้เจือจางลง อีกทั้งยังช่วยขับถ่ายสารพิษออกจากร่างกาย ได้โดยเร็วอีกด้วย เมื่อของเสียถูกขับถ่ายออกหมด อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาเลย ถ้าหากมีอาการมาก เช่น ปวดมวนท้องมาก หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจนกินอะไรไม่ได้ เป็นต้น ในกรณีนี้เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า จะต้องกินยาหรือฉีดยา ตามการวินิจฉัยของหมอ




เพราะฉะนั้น อยากฝากพวกเราไว้ว่า เมื่อมีความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพ อย่าเพิ่งไปคิดพึ่ง ใคร ต้องคิดพึ่งตัวเองเป็นอันดับแรก ฝึกสาวจากผลที่เกิดขึ้นไปหาต้นเหตุ ด้วยการสำรวจตัวเอง ด้วยการนึกทบทวนก่อนว่า สิ่งที่เราประพฤติใน วันนี้หรือวันอื่น ๆ ที่ผ่านมา มีความผิดพลาดอะไรกับตัวเราบ้าง การนึกทบทวนนี้บางทีอาจจะผิด หรืออาจจะถูกก็ได้ แล้วนำไปเล่าให้หมอฟัง หมอซึ่งมีความชำนาญมากกว่าเรา จะช่วยตัดสินให้เราได้ว่า สิ่งที่เราสันนิษฐานนั้นผิดหรือถูก ใช่หรือไม่ใช่ และถ้าหมอได้ข้อมูลถูก หมอก็สามารถมุ่งไปแล้วรักษาที่ต้นเหตุ ไม่นานพวกเราก็หายป่วย

ถ้าการนึกทบทวนสอบสาวราวเรื่องของเรา ปรากฏว่าตรงตามความเป็นจริง ก็หมายความว่า เราเองเริ่มมีความรู้ มีความรอบคอบขึ้นบ้างแล้ว ก็จะเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างนิสัย ช่างสังเกตให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น แม้ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย แล้วในที่สุดความเชื่อมั่นในตัวของเราเองก็จะเพิ่มมากขึ้น

ต่อไปนี้ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้น กับตัวเราจะร้ายหรือดีก็ตาม พึงเอาสิ่งนั้นมาเป็นบทฝึกให้เกิดนิสัย ช่างสังเกต ให้เกิดปัญญา ให้รู้จักตัวเอง ถ้าสังเกตไม่ออก ก็ให้ไปขอคำแนะนำจากท่านผู้รู้ อย่าอาย อย่ากลัวเสียหน้า แล้วเราก็จะไม่เจ็บตัวเปล่า เพราะเจ็บแล้วก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น รู้จักระวังเพิ่มขึ้น ที่เรียกว่า ผิดเป็นครู คือ จะไม่มีการเจ็บซ้ำสองในเรื่องนั้น ๆ อีกต่อไป

ร่างกายที่แข็งแรงไม่มีขาย จะต้องสร้างด้วยตัวเองเท่านั้น หมั่นสำรวจการขับถ่ายเพื่อตรวจสอบและสร้างภูมิคุ้มกันในตัว คือหลักประกันที่ดีที่สุด

ตอนต่อไปจะได้นำนิสัยการกินอาหารมานำเสนอ โดยเน้นเรื่องการกินอาหารเป็นยา เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยามเจ็บป่วย เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
หนังสือสุขภาพที่ดีคุณทำได้ง่าย ๆ สบาย ๆ (สรุปจากธรรมเทศนาของหลวงพ่อทัตตชีโว)
ภาพจาก www.pixabay.com

5 ความคิดเห็น: