วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การทำบุญ : อุทิศส่วนกุศล ตามหลักพระพุทธศาสนา


การทำบุญอุทิศส่วนกุศลนี้มีแต่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องทำความเข้าใจ 2 เรื่องนี้ก่อน


1. ชีวิตหลังความตายนั้นไม่มีการทำมาหากิน ทั้งในสุคติและในทุคติ ชีวิตจะมีสุขอยู่ได้ก็ด้วยกำลังบุญ






2. บุญ คือ พลังงานอันบริสุทธิ์ เป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต คุณสมบัติของบุญ คือ เก็บสะสมเอาไว้ได้ เหมือนกระแสไฟฟ้าที่สามารถชาร์จเก็บสะสมเอาไว้ในแบตเตอรี่ และยังสามารถอุทิศให้แก่ผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ 



  • ประวัติของการอุทิศส่วนกุศล
ประวัติครั้งแรกของการอุทิศส่วนกุศลนี้ มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร คืนหนึ่งได้ยินเสียงแปลก ๆ ร้องขึ้นมา ก็ทรงตกพระทัย


หลังจากที่ทูลถามพระพุทธเจ้าจึงรู้ว่า เป็นเปรตญาติในอดีตนานมาแล้ว มาร้องขอส่วนบุญ จึงบำเพ็ญมหาทาน ทั้งอาหาร ทั้งถวายผ้าแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก บุญก็ส่งผลถึงเปรตเหล่านั้น เปลี่ยนจากกายของเปรตเป็นกายของเทวดาทันที
 



นี่ก็เป็นตัวอย่างของบุญที่สามารถอุทิศได้ จากผู้ที่มีชีวิตอยู่บำเพ็ญบุญกุศลแล้วก็ไปให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว


เมื่อเราทำความดีแล้ว บุญกุศลก็เกิดขึ้นแล้ว จะอุทิศถึงผู้อื่นก็ย่อมทำได้ 

  • องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้บุญไปถึงหมู่ญาติได้ คือ
ประการที่ 1 ผู้รับบุญนั้นต้องอยู่ในภาวะที่สามารถรับได้ คือ ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา สามารถรับบุญได้ ถ้าไปเกิดในยมโลก หรือเปรต อสุรกายก็สามารถรับบุญได้ แต่ถ้าเป็นมนุษย์ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ อันนี้ยังไม่สามารถที่จะรับบุญได้

ประการที่ 2 มีผู้ทำบุญสั่งสมบุญ อุทิศบุญไปให้

ประการที่ 3 ต้องได้เนื้อนาบุญ จึงจะทำให้บุญนั้นสำเร็จประโยชน์กับผู้ที่รับบุญ




  • วิธีการอุทิศส่วนบุญก็มีอยู่ 2 วิธี คือ 
1. กรวดน้ำ หลังจากทำบุญเสร็จแล้ว เมื่อพระเริ่มสวดให้พร เราก็ยกคนโทแล้วก็รินน้ำไปไม่ให้ขาดสาย อันนี้เป็นอุบาย เพราะการที่จะส่งบุญไปให้หมู่ญาติได้นั้นต้องมีสมาธิ ใจต้องไม่ฟุ้งซ่าน

2. ทำสมาธิระลึกนึกถึงบุญ แล้วก็นึกถึงชื่อนามสกุล หรือรูปร่างหน้าตาของหมู่ญาติหรือบุคคลที่เราต้องการแผ่ส่วนบุญชนิดจำเพาะเจาะจงให้



แต่จะอุทิศส่วนกุศลโดยรวม ๆ ก็ได้ โดยกล่าวว่า... 

"อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย" 

ขอผลบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ของข้าพเจ้า 
ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงประสบความสุขด้วยเถิด...

  • บุคคลที่เราจะอุทิศบุญนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 บิดามารดา ผู้มีพระคุณ หมู่ญาติ ครูบาอาจารย์ โดยการนึกถึงท่าน นึกถึงชื่อ นามสกุลท่าน

กลุ่มที่ 2 คู่กรรมคู่เวรทั้งหลายที่เคยล่วงเกินกันมา แล้วผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรกันมาตั้งแต่ในอดีต โดยอธิษฐานว่า กรรมใดที่เราล่วงเกิน ก็ขอให้เป็นอโหสิกรรมซึ่งกันและกัน

กลุ่มที่ 3 สรรพสัตว์ทั้งหลาย


การอุทิศบุญไปให้กับหมู่ญาติทั้งหลายนั้น ไม่ได้ทำให้บุญของเราลดลง เปรียบเหมือนเรามีเทียนติดไฟอยู่ เราเอาเทียนดวงนี้ไปต่อให้เทียนดวงอื่น ความสว่างของเราไม่ได้ลดลง แต่ความสว่างโดยรวมกลับเพิ่มมากขึ้น







ในอีกมุมหนึ่ง หลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้ว จะมารอหมู่ญาติอุทิศไปให้ ก็ไม่แน่ว่าเขาจะมีเวลาและโอกาสที่จะไปทำบุญและอุทิศให้กับเราหรือเปล่า ดังนั้นขณะที่เรามีชีวิตอยู่นั้น ควรตั้งใจสั่งสมบุญให้เต็มที่จะดีที่สุด 

Cr. พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส
https://www.facebook.com/Sanitwong072

ขอขอบคุณภาพจาก www.dmc.tv, www.webkal.org, เพจภาพดีๆ072



6 ความคิดเห็น:

  1. น้อมกราบอนุโมทนาสาธุครับ

    ตอบลบ
  2. หลักการทำบุญอุทิศส่วนกุศล เป็นหนึ่งในหลักคำสอนที่ดีในพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ขอสาธุการค่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอกราบขอบพระคุณสำหรับข้อมูลการอธิบายที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน สาธุุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ

    ตอบลบ