หลังจากที่ WHO (World Health Organization) หรือ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน (ชื่อเป็นทางการคือ โควิด19) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว หลังพบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2563
การดูแลป้องกันตนเอง เพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกโรคติดต่อโจมตี เป็นสิ่งที่คนในสังคมตื่นตัวเป็นอย่างมาก
หากศึกษาเรื่องโรคระบาดระดับโลกทั้งหลายที่ผ่านมาเราพบว่า เชื้อโรคเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน แต่คนนั้นมีการปรับตัวจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่เคยระบาดได้
สิ่งที่แพทย์ได้เน้นย้ำนอกจากการทำ Social Distancing คือ เว้นระยะห่างจากสังคมแล้ว...
เรายังต้องสนใจในเรื่องของการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเอง ให้ปลอดภัยจากเชื้อทั้งหลายด้วยตัวเราเองได้
การดูแลรักษาสุขภาพนั้น สำหรับคนบางคนเป็นเรื่องยาก เพราะใช้วิธีพึ่งพาการรักษาจากแพทย์เป็นหลัก แต่สำหรับภาวะโรคใหม่ที่ยังไม่มียาหรือวัคซีนรักษานี้ เราจำเป็นต้องเป็นหมอให้ตัวเองและเน้นการป้องกันมากกว่ารักษาให้เป็นนิสัยอีกด้วย คำถามต่อมา คือ นิสัยนี้ควรเริ่มต้นอย่างไร?
นิสัยรักษาสุขภาพ
นิสัย คือ พฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเกิดจากการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ่อย ๆ จนติด เมื่อติดแล้ว ถ้าไม่ได้ทำอีกก็จะรู้สึกหงุดหงิด นิสัย เป็นเสมือนโปรแกรมประจำตัวที่กำหนดพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ของแต่ละบุคคล ใครมีนิสัยอย่างไรก็จะทำตามความเคยชิน อย่างหนึ่งโดยอัตโนมัติ
บทแรกสำหรับการสร้างนิสัยดี
1. กิจวัตรประจำวันของตนเอง ได้แก่ การใช้สอย ดูแลเรื่องปัจจัย 4 เป็นหลัก นับตั้งแต่ดูแลใช้สอยบริโภค
เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมไปถึง การอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสุขอนามัย
2. หน้าที่การงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบ เช่น งานอาชีพ งานเลี้ยงลูก งานดูแลพ่อแม่ งานสังคมสงเคราะห์ งานเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ฯลฯ
1. อยู่ให้ห่างจากคนไม่ดี
2. หมั่นเข้าใกล้คนดี
3. หมั่นทำสมาธิให้เป็นกิจวัตรประจำวัน จะเกิดกำลังใจและกำลังปัญญาในการสั่งสมคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พร้อมทั้งหาวิธีคุ้มครองป้องกันตน ให้ห่างจากความชั่วได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ที่มาของความรู้เรื่องสุขภาพ
1. จากการสังเกตตนเอง
เตือนตนเองเสมอว่า แม้จะพบหมอเก่งเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่รู้จักสังเกตเฝ้าระวังดูแลตนเองด้วยแล้ว โอกาสที่จะหายป่วยไข้โดยเด็ดขาดย่อมเป็นไปได้ยาก
2. จากการซักถามหมอ
ทั้งเรื่องสาเหตุตลอดจนวิธีป้องกันรักษา เพื่อเป็นหลักประกันว่า โรคชนิดนี้หลังจากหายแล้วจะไม่ย้อนกลับมาเป็นอีก
3. จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
หลวงพ่อทัตตชีโวได้ข้อสรุปว่าถ้าไม่ใช่โรคที่เกิดจากกรรมข้ามชาติแล้ว โรคส่วนมากมักเกิดจากนิสัยมักง่ายตามใจตัวเอง เช่น นิสัยตามใจปาก ตามใจท้อง ความมักง่ายในอิริยาบถต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวบ่อนทำลายสุขภาพที่แท้จริงของเรา
นิสัยการดูแลสุขภาพที่สำคัญเป็นประการแรก ที่จะขอพูดถึง คือ
นิสัยการดื่มน้ำ
ดื่มน้ำอย่างไร ให้ถูกดี ถึงดี พอดี
ความสำคัญของน้ำ
คนเรามีส่วนประกอบที่ เป็นน้ำ ถึง 2 ใน 3 ส่วนของร่างกาย และน้ำยังเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของทุกระบบภายในร่างกาย เมื่อเป็นเช่นนั้น อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ต้องดื่มน้ำให้มากเพียงพอ น้ำก็จะช่วยประคับประคองสุขภาพของเราให้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข
ร่างกายขาดน้ำทำให้เกิดผลเสียอย่างไร
1. อวัยวะภายในทำงานหนัก
กระเพาะอาหารและลำไส้ ระบบการไหลเวียนของเลือดขาดน้ำ มีผลทำให้เลือดข้น หัวใจ ปอด ไต ต้องทำงานหนักมากขึ้น
2. ปวดศีรษะ
ตามธรรมดาการสูบฉีดเลือดจากหัวใจขึ้นไปสู่ศีรษะ จะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกต้านไว้ เลือดที่ข้นและมีจำนวนน้อยจึงไปถึงศีรษะได้น้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ที่ศีรษะมีเส้นประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไวต่อความรู้สึกปวดมากกว่าส่วนอื่น
3. คัดจมูก
ในขณะที่ร่างกายขาดน้ำ น้ำที่มีอยู่ในตัวก็ร้อนราวกับจะเดือดขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
4. ไข้จากการขาดน้ำ
ที่พบบ่อยคือ เกิดจากการได้รับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง และการขาดน้ำก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไข้ได้
5. แผลร้อนใน คออักเสบและทอนซิลอักเสบ
แผลร้อนใน คออักเสบและทอนซิลอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่เกิดได้บ่อย คือ การขาดน้ำ
6. ท้องผูก-ริดสีดวงทวารหนัก
ลำไส้ใหญ่มีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญ คือ ดูดน้ำจากกากอาหารกลับคืนเข้าสู่กระแสเลือด
7. นิ่ว
ถ้าดื่มน้ำน้อยจึงไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกปวดปัสสาวะ แล้วขับออกมาได้จึงต้องค้างอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน ตะกอนที่อยู่ในปัสสาวะจึงตกค้างและค่อยๆ จับตัวกันเป็นก้อน ในที่สุดก็เกิดเป็นนิ่วในไต หรือนิ่วท่อไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นอันตรายมาก
8. เส้นติด เท้าแพลงบ่อย ๆ
ร่างกายขาดน้ำ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและพังผืดเหี่ยว เมื่อเส้นเหี่ยวก็จะเกาะติดกันเป็นแผง มิหนำซ้ำ บางเส้นยังไขว้กันอีกด้วย แม้ต่อมาจะพยายามออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นเท่าไร บริหารยืดเส้นยืดสายอย่างไร อาการเส้นติดก็ยากที่จะหลุดออกจากกัน กลับคืนสู่สภาพปกติ
9. ตื่นแล้วไม่สดชื่น
บางคนเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ก็ยังรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ไม่อยากจะลุกขึ้น รู้สึกว่ายังนอนไม่พอ ทั้ง ๆ ที่นอนมาทั้งคืน เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วรีบดื่มน้ำเข้าไปสัก 2-3 แก้ว เซลล์ก็จะกลับชุ่มชื่นขึ้น เราก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที
10. อิ่มแล้วง่วง
บางคนรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ง่วง ถ้านั่งสมาธิก็จะหลับ สัปหงก สาเหตุที่สำคัญคือ ดื่มน้ำน้อยไป หรือรับประทานอาหารมากไป จนไม่มีช่องว่างสำหรับน้ำ ทำ ให้อาหารในกระเพาะข้นมาก ยากต่อการย่อย
วิธีสังเกตอาการที่ร่างกายขาดน้ำ
อาการที่ร่างกายขาดน้ำ สามารถสังเกตได้จากอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ ปากแตก ผิวแตก เสียงแหบ ท้องผูกจัด ร้อนใน ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นยังเป็นสิ่งที่เตือนว่า นิสัยที่ไม่ดี คือขาดความสังเกต มักง่าย เอาแต่ใจตน ได้เกิดขึ้นในตัวเราแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง
อนึ่ง ยังมีวิธีสำรวจตรวจสอบตัวเองง่ายๆ ว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่ ก็คือ หากปัสสาวะมีสีเหลืองยิ่งถ้าเหลืองเข้มเหมือนกับน้ำชาชงแก่ๆ แสดงว่าขาดน้ำอย่างมาก ส่วนผู้ที่ปัสสาวะสีเหลืองอ่อนหรือปัสสาวะใส แสดงว่า ร่างกายมีน้ำเพียงพอ
ดื่มน้ำอุ่นดีอย่างไร
ร่างกายดูดซึมน้ำอุ่นได้ง่ายกว่าน้ำเย็น เพราะน้ำอุ่นมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกาย (อุณหภูมิปกติของร่างกาย 37องศาเซลเซียส) ถ้าเราดื่มน้ำอุ่นหรือจิบน้ำร้อนเข้าไป ร่างกายก็จะดูดซึมได้ทันที
การดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั้น อย่าไปกำหนดเพียงว่า วันนี้ต้องได้ปริมาณของน้ำ 10 แก้ว หรือ 20 แก้วแล้วพอ แต่ให้คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่แวดล้อมตัวเรา (กลางแดด/ถูกพัดลมเป่า) และกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันด้วยเป็นเกณฑ์ หากออกกำลังกาย เสียเหงื่อมาก ๆ อย่างนี้น้ำ 10 แก้วไม่พอแล้ว อาจจะต้องเพิ่มเป็น 14-15 แก้ว เป็นต้น
มีวิธีสังเกตอย่างง่าย ๆ ก็คือ ปัสสาวะมีสีใส เหมือนน้ำที่ดื่มเข้าไป แสดงว่า การดื่มน้ำในวันนั้นเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะขุ่นคลั่กเหลืองอ๋อย หรือเป็นสีชาชงแก่ๆ ต้องดื่มน้ำเพิ่มเข้าไปอีกให้มากพอ
คนที่ดื่มน้ำเป็น พอตื่นเช้าจะรีบดื่มน้ำอุ่น 2-3 แก้วในทันที เพื่อให้ร่างกายสดชื่นเร็วที่สุด
ก่อนรับประทานอาหารเช้า อาจจะดื่มน้ำอีกสักแก้วครึ่งแก้วก็ได้ แต่ไม่ควรมากกว่านั้น
ครั้นหลังรับประทานอาหารเสร็จ ให้ดื่มน้ำตามไปสัก 1 แก้วทันที ทิ้งช่วงอีกสักพักจึงดื่มน้ำตามเข้าไปอีก 1-2 แก้ว กระเพาะและลำไส้ก็จะสามารถบีบตัวย่อยอาหารได้ง่าย จึงทำให้เราไม่ง่วงไม่เพลีย
สำหรับคนที่ต้องเดินทางออกจากบ้านในตอนเช้า เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จก็ดื่มน้ำเพียง 1 แก้วก็พอ ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง ครั้นถึงที่หมายแล้วจะดื่มน้ำอึกกี่แก้วก็ดื่มได้ตามความพอใจ ไม่กระทบต่อระบบการย่อยอาหาร
ก่อนนอนก็เหมือนกัน ก่อนนอน ๒ ชั่วโมง อย่าดื่มน้ำมาก ถ้าในระหว่าง 2 ชั่วโมงนี้ กระหายน้ำก็ดื่มเพียงเล็กน้อยมิฉะนั้นจะต้องลุกเข้าห้องน้ำในตอนดึกอีก ยกเว้นในกรณีบุคคลที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้มากเหมือนคนทั่วไป เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจขั้นร้ายแรง เป็นต้น
สำหรับนิสัยรักสุขภาพเรื่องต่อไป คือ นิสัยการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งจะนำเสนอในตอนที่ 2 ต่อไป
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
-หนังสือสุขภาพที่ดีคุณทำได้ง่ายๆสบายๆ (สรุปจากธรรมเทศนาของหลวงพ่อทัตตชีโว)
-สำนักข่าวThaipbs https://news.thaipbs.or.th/content/288500
ขอบคุณรูปภาพจากwww.pixabay.com
ขอบคุณสำหรับบทความที่ให้ความรู้ดีๆแบบนี้ครับ
ตอบลบสาธุ สาธุ สาธุ
ตอบลบกราบขอบพระคุณ สาธุ
ตอบลบ